“สมุทรสาคร” จังหวัดที่เป็น “เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร เขตประวัติศาสตร์” อย่างแท้จริง สะท้อนผ่านตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ปี 2565 สูงเป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ ดร.อภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ที่ปรับตำแหน่งขึ้นไปเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลางคนใหม่ถึงปัญหาแรงงานต่างด้าว และนโยบายของรัฐบาลที่จะปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท กระทบต่อ 6,000 โรงงานในจังหวัดสมุทรสาครอย่างไร
ปัญหาใหญ่ของแรงงานต่างด้าว
ปัจจุบันประเทศไทยน่าจะมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 10 ล้านคน โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาครน่าจะมีเกินกว่า 1 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา ตอนนี้เรื่องแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยมีประเด็นสำคัญที่น่าห่วงอย่างมากคือ ใบอนุญาตทำงานหรือใบอนุญาตประกอบอาชีพของแรงงานต่างด้าว (Work Permit) กำลังจะหมดอายุลงพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 หรืออีกประมาณ 9 เดือนตอนนี้รัฐบาลควรออกกลยุทธ์ประกาศตั้งรับ โดยบอกผู้ประกอบการไว้ล่วงหน้าเลยว่าจะดำเนินการอย่างไร เช่น ยืดเวลาให้โดยใช้มาตรการเดิมหรือมาตรการใหม่อย่างไร ไม่ใช่รอใกล้ ๆ แล้วมาบอก เจ้าหน้าที่ก็จะทำไม่ทัน หากทุกคนไปยื่นเอกสารพร้อมกันทีเดียว 10 ล้านคน ไม่อยากให้เป็นคอขวด ต้องเห็นใจคนปฏิบัติด้วย เราเป็นผู้ใช้ แต่ผู้รักษากฎหมายคือหน่วยงานรัฐ ในเมื่อรู้ล่วงหน้า รัฐบาลก็น่าจะประกาศได้เลยว่าแนวโน้มจะทำอย่างไร ให้คนที่เกี่ยวข้องรู้ล่วงหน้าจะได้มีเวลาเตรียมตัว…
สงครามในเมียนมากระทบการต่ออายุ
กระทบแน่ เพราะจังหวัดสมุทรสาครส่วนใหญ่ใช้แรงงานจากประเทศเมียนมา ปัญหาใหญ่คือประเทศต้นทางกำลังมีสงคราม สิ่งที่ผมห่วง คือ ไม่รู้ว่าสงครามขยายวงแค่ไหน แล้วความเสียหายขนาดไหน ในอนาคตเรื่องเอกสาร พาสปอร์ต การเดินทาง อะไรที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเมียนมา เราไม่รู้ว่าจะมีอุปสรรคหรือไม่ตัวแรงงานที่อยู่ในไทยผมว่ามีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศต้นทาง ในขณะที่เราพึ่งพาแรงงานต่างด้าวตรงนี้ รัฐบาลต้องคิดแล้วว่า จะจัดการคนที่อยู่ในประเทศอย่างไร เช่น พาสปอร์ตหมดอายุจะให้แรงงานกลับไปต่อไม่ได้ จะทำอย่างไรกับเรื่องพวกนี้..
เรื่องมีแรงงานเถื่อนหนีเข้ามา
หลักการใหญ่ ๆ คือขั้นตอนมันยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายมันสูง อย่างตอนนี้เข้าใจว่าต้องมีแรงงานบางส่วนที่แอบหนีเข้ามา ตรงนี้จะป้องกันอย่างไร ตั้งแต่โควิดแล้ว ผมบอกเสมอว่าชายแดนไทยไม่สามารถป้องกันแรงงานที่เข้ามาผิดกฎหมายได้ดี ก็เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ก็พยายามบางส่วน แต่ว่าเส้นทางธรรมชาติมันยาวมาก ไม่รู้จะไปป้องกันอย่างไร ยิ่งแรงงานบางส่วน อย่างสมุทรสาครเป็นฮับแรงงานต่างด้าว แรงงานจะไม่ไปจังหวัดอื่น จะมาที่นี่ก่อน เพราะเครือญาติ คนรู้จัก ก็มาที่นี่ เขาจะบอกกันในกลุ่มของแรงงานกันเอง ตอนนี้โรงงานแห่งนี้กำลังเปิดรับสมัคร
ค่าธรรมเนียมการนำเข้าแรงงานสูง
ที่ผ่านมาการทำเอกสารการนำเข้าแรงงานต่างด้าว และการต่อใบอนุญาตมีขั้นตอนยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายสูงประมาณ 20,000 บาทต่อคน หากโรงงานแห่งหนึ่งมีการนำเข้าแรงงานต่างด้าว 10 คนก็แบกต้นทุนไปแล้ว 2 แสนบาท พอวีซ่าหมดไปต่อมาโดนอีก 2 หมื่นบาท ค่าใช้จ่ายมากโรงงานต้องแบกต้นทุนสูง
จริง ๆ รัฐมีหน้าที่ช่วยให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพ จึงควรทำให้ต้นทุนถูก ค่าใช้จ่ายถูก จะทำให้สินค้าเราถูกลงโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปกลัวว่ารัฐดูแลเราดี เราไม่ลดราคาสินค้า บอกเลยทุกธุรกิจแข่งกันทุกตัว แข่งกันลดราคา ถ้ารัฐดูแลดีจะไปแก้ปัญหาปลายทาง ของแพงต่าง ๆ เพราะทุกอย่างคือต้นทุน…
รัฐควรเปลี่ยนวิธีการนำเข้าแรงงานต่างด้าว
การนำเข้าแรงงานต่างด้าวควรยกระดับทำให้เหมือนที่หลายประเทศทำกัน และต้องลดขั้นตอนต่าง ๆ รวมถึงใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาดำเนินการรายงานตัวส่งเอกสารผ่านมือถือลงระบบได้ ไม่ต้องไปยื่นเอกสารหลายที เพื่อให้ค่าใช้จ่ายถูกลงโดยปริยาย โควตาจำนวนแรงงานต่างด้าวที่จะนำเข้าต้องขึ้นกับผู้ประกอบการโรงงานว่าต้องการใช้คนเท่าไหร่ อย่างผมจะใช้ 100 คนก็แค่ไปยื่นเอกสารให้ถูกต้อง ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐมากำหนดโควตาให้นำเข้า วิธีการอย่างบัตรชมพูมันทำผิดให้เป็นถูก
ยกตัวอย่างคนไทยจะไปทำงานในประเทศสหรัฐอเมริกา สิ่งแรกที่เขาถามคือ ใครเป็นนายจ้างคุณ ผู้ประกอบการแจ้งไปยังฝ่ายลูกจ้างก่อนว่า จะรับคุณเข้ามาทำงาน ไปขอเวิร์กเพอร์มิต พอเข้ามาก็มาหาผม ผมก็ไปแจ้งจัดหางานว่านายคนนี้ทำงานกับผม ผมจ่ายเงินเดือน จ่ายประกันสังคมเขา สมมุตินายคนนี้ไม่ชอบคุณ จะย้ายงานก็ไม่เป็นไร ก็กลับประเทศไทยไปก่อน ไปหานายจ้างใหม่ที่จะรับคุณเข้ามา อย่างนี้ก็จะไม่มีแรงงานผิดกฎหมาย แต่นี่ต้องโควตา MOU ไปกำหนดอะไรก็ไม่รู้
รัฐบาลจะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท
ตอนนี้ผมกำลังเช็กข้อมูลต้นทุนการผลิตอยู่ เราทำโรงงานอุตสาหกรรม เรามีซัพพลายเชนหลายส่วนมากที่จะป้อนวัตถุดิบเข้ามาที่โรงงาน ฉะนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพร้อมกันทั่วประเทศ แน่นอนซัพพลายเชนที่ส่งวัตถุดิบให้เราต้นทุนก็ต้องถูกปรับขึ้นด้วยเช่นกัน ตัวสินค้าขึ้นราคาแน่นอน
ดังนั้น ค่าแรงขึ้นตามที่รัฐบาลประกาศ มันไม่ใช่เฉพาะแค่ตัวเงิน รัฐบาลต้องมองด้วยว่าซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม และคนที่ใช้ชีวิตประจำวัน และที่ผมห่วงที่สุดคือผู้ประกอบการโรงงานขนาดย่อมที่มีแรงงาน 20-30 คน ขึ้นค่าแรงนิดเดียวก็แย่แล้ว เพราะโรงงานเหล่านี้ไปรับงานต่อจากที่อื่นอีกที เขาก็จะได้ส่วนต่างค่าแรงนิดเดียว ก็ไม่รู้คนที่ส่งงานให้เขา เขาจะไปต่อได้หรือไม่
อย่างปี 2566 ที่สมุทรสาครมีโรงงานปิดไปเกือบ 10 กว่าแห่ง ขนาดค่าแรงยังไม่ขึ้น ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่มันไม่เอื้อกับประเทศไทย ตอนนี้เรามีสินค้าคุณภาพต่ำเข้ามาตีในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตของเราขายของไม่ค่อยออก ต้นทุนสูงกว่า และมีต่างประเทศที่ผลิตสินค้าเหมือนกับเรา ค่าแรงถูกกว่า ค่าไฟถูกกว่าตามที่เป็นข่าว เช่น ประเทศเวียดนามที่คนแห่ไปลงทุนกันมาก คือคู่แข่งของไทยทั้งนั้น
ก่อนประเทศไทยปรับขึ้นค่าแรง ควรต้องดูคู่แข่งรอบ ๆ เช่น ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ประเทศเขาเล็กกว่าไทย แต่ภาคการผลิตไม่ด้อยกว่าเรา ถึงแม้ประชากรน้อยกว่าเราด้วย การปรับค่าแรงจะกระทบอุตสาหกรรมบางส่วน พวกร้านค้าทุกวันนี้ของก็ขายไม่ได้อยู่แล้ว เเล้วไปเพิ่มค่าแรง เพิ่มนิดเดียวสำหรับคนรวย แต่เยอะมากสำหรับคนที่รายได้น้อยกว่า อันนี้รัฐบาลก็ต้องดูให้ดีว่าจะดูแลส่วนตรงนี้อย่างไร..
ปัญหาต้นทุนของไทยสูงกว่าทุกประเทศ
ทั้งค่าไฟ ค่าแรง ค่าน้ำมันของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง สุดท้ายรัฐบาลต้องเอาเงินไปอุดหนุนมันก็ไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นตรงนี้รัฐบาลต้องหามาตรการอื่น ๆ ในขณะนี้ทั่วโลกมีสงครามเกิดขึ้นในหลายประเทศ ดังนั้น ยอดขาย กำลังผลิตลดลง นี่คือปัจจัยสำคัญมากเลย เราจะเห็นว่าปีนี้ โดยเฉพาะเดือนมีนาคม 2567 ภาคการส่งออกตัวเลขต่ำที่สุด ทั้งที่จริง ๆ ค่าเงินบาทอ่อน ตัวเลขการส่งออกควรจะพุ่ง เรามีข่าวโรงงานใหญ่จากประเทศนั้นประเทศนี้มาลงทุน แต่ทำไมตัวเลขการส่งออกเราลดลง แล้วไปขึ้นค่าแรงอีกก็จะเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้วให้บอบช้ำไปอีก จนหลาย ๆ ธุรกิจไม่สามารถพยุงตัวเองได้จนเลิกกิจการไป อันนี้ก็จะสร้างปัญหา
ผมเคยไปประชุมกับพวกแรงงาน แรงงานก็บอกเองว่าไม่อยากให้ขึ้นมาก เดี๋ยวโรงงานอยู่ไม่ได้ เขาก็ตกงาน บางอุตสาหกรรมเขาเป็นอุตสาหกรรมเก่าก็จริง แต่ผ่านมา 20-30 ปี ผู้ประกอบการดูแลคนอื่น อันนี้ถ้าเขาไปไม่ได้ใครจะรับผิดชอบ
หากสินค้าปรับราคาขึ้น การส่งออกกระทบอีก
กระทบแน่นอน ยิ่งประเทศใหญ่ ๆ โดยเฉพาะอเมริกา ยุโรป สนใจแค่ว่าประเทศไหนส่งของให้เขาได้ราคาถูกสุด บนราคาที่เขากำหนด ทั่วโลกก็อยากจะขาย ประเทศที่สำคัญกับตลาดไทยอย่างจีน เราก็ผลิตสู้เขาไม่ได้ อย่างเก่งก็ส่งสินค้าเกษตรเป็นส่วนใหญ่
ปัญหาโรงงานกากเคมีอุตสาหกรรมในสมุทรสาคร
ส่วนมากโรงงานที่ทำผิดกฎหมายไม่ได้เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรม โดยปกติจริง ๆ การควบคุมของทางภาครัฐมีมาตรฐานสูงอยู่แล้ว สูงจนผู้ประกอบการที่ทำถูกต้องบ่นด้วยซ้ำว่าอะไรมันจะเยอะแยะขนาดนี้ ผู้ประกอบการที่ตั้งใจทำถูกต้องตามกฎหมายก็ทำได้ดีอยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ที่เราเห็น โรงงานกำจัดสารเคมีเถื่อน แอบซ่อนไว้ พวกนี้ตั้งใจทำผิดกฎหมาย
ที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมเราจัดอบรมบ่อยมากในแต่ละส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับทางอุตสาหกรรม แต่เราต้องยอมรับว่ามันจะมีคนที่จงใจทำผิดกฎหมาย เพื่อที่จะเอากำไรเยอะ ๆ อันนี้นี่แหละ ต้องปราบปรามเพื่อไม่ให้มีผลกระทบ และไม่เสียภาพลักษณ์ของตัวภาคอุตสาหกรรมเอง ถ้าเรามีเบาะแสเราก็ช่วยภาครัฐด้วย… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/local-economy/news-1566880