คู่มือผู้เรียน
1. ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย หลักสูตรนักบริหารการคลัง (นบค.)
ภาษาอังกฤษ Finance Management Program
2. หลักการและเหตุผล
ด้วยเหตุที่สภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงและ เปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อนรวดเร็วไม่หยุดนิ่ง ผนวกกับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นแบบเปิด มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับระบบเศรษฐกิจโลก จึง ได้รับผลกระทบจากพลวัตของระบบเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เห็นได้จากวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายปี2551 ได้ส่งผลกระทบลุกลามไปยังประเทศตะวันตก และประเทศอื่นๆ จนกลายเป็นวิกฤตการณ์การเงินโลกมาถึงบัดนี้ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น ก็ได้รับผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองบ้างเช่นเดียวกัน
กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการคลัง โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนา บรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจการเงินการคลังและสังคมของประเทศ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ให้มีความรู้ ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ มีความเป็นผู้นำในระดับสากล และที่สำคัญจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการบูรณาการของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจการเงินการคลัง เพื่อรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสังคม และการพัฒนาของประเทศในด้านต่างๆ ดังวิสัยทัศน์กระทรวงการคลังที่ว่า “เสาหลักทางการคลังและเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
กระทรวงการคลังได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นดังกล่าวข้างต้น จึงมีแนวคิดจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพของข้าราชการกระทรวง โดยการจัดอบรมหลักสูตรนักบริหารการคลัง (นบค.) ขึ้น เพื่อให้นักบริหารระดับสูงของกระทรวงและหน่วยงานอื่นๆ ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมเพื่อให้เป็นผู้บริหารที่มีศักยภาพเป็นกลไกหลักสำคัญที่จะนำการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐและยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้เกิดผลในทางปฎิบัติ โดยการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาศักยภาพในหลักสูตรอบรมที่มีมาตรฐานสูง มีการแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างผู้บริหารของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เพื่อให้มีความเข้าใจในภาพรวมและความเชื่อมโยงของระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมใน มุมมองต่างๆ รวมถึงมีความเข้าใจในหลักการการบูรณาการและบริหารจัดการนโยบายทั้งในระดับประเทศและในระดับองค์กร มีภาวะการเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีคุณธรรม และมีสมรรถนะการบริหารจัดการทีดี สามารถนำการเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อนำสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวม
ทั้งนี้ในการจัดทำหลักสูตรนักบริหารการคลัง (นบค.) รุ่นที่ 3 จะมีการพัฒนาปรับปรุงวิชาและกิจกรรมจากหลักสูตรนักบริหารการคลัง (นบค.) รุ่นที่ 2 ประมาณร้อยละ 30 ของรายวิชาและกิจกรรมทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเสริมศักยภาพผู้เข้ารับการอบรมในการเป็นผู้บริหารและผู้นำที่ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกาภิวัฒน์ โดยจะเพิ่มเติมประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ที่เป็นปัจจุบันเข้าไปในหลักสูตร ซึ่งส่วนหนึ่งของรายวิชาและกิจกรรมที่มีการปรับเปลี่ยนนี้ จะเป็นรายวิชาและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต (Crisis Management) ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉินอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และความน่าเชื่อถือของประเทศ รวมถึงการเพิ่มเนื้อหารายวิชาใหม่ๆ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้และประสบการณ์ที่มีความหลากหลายและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต อาทิ บทบาทและมุมมองของสื่อมวลชนเกี่ยวกับพลวัตของระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย แนวคิดและหลักการในการบริหารวิกฤตการณ์ภัยธรรมชาติ และการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นต้น
3. วัตถุประสงค์
3.1 เพื่อสร้างนักบริหารระดับสูงให้เป็น
3.1.1 ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถ มีทักษะและประสบการณ์ในการบริหารจัดการนโยบายเพื่อความสำเร็จขององค์กร
3.1.2 ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้สามารถปรับตัวและดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกสถานการณ์
3.1.3 ผู้นำที่มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังได้วางไว้
3.1.4 ผู้นำที่ยึดมั่นในหลักคุณธรรมและจริยธรรม มีความเสียสละและความทุ่มเทในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
3.2 เพื่อส่งเสริมและสร้างเครือข่ายผู้นำที่มุ่งสู่การพัฒนา โดยการ
3.2.1 เสริมสร้างวิสัยทัศน์ร่วมของนักบริหารระดับสูงในภาพรวมของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจการเงินการคลัง เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของบูรณาการในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างมีเอกภาพและยั่งยืน
3.2.2 เสริมสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างผู้บริหารจากหลากหลายหน่วยงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการผลักดันนโยบายภาครัฐไปสู่การปฏิบัติ
3.2.3 ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทัศนะและแนวคิดของผู้บริหารระดับสูง ในประเด็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ในทุกระดับ เพื่อให้เข้าใจมุมมองที่หลากหลายและยอมรับในความแตกต่าง อีกทั้งยังเป็นการระดมความคิดและศึกษาแนวทางในการพัฒนาประเทศไทย
4. โครงสร้างของหลักสูตร
โครงสร้างหลักสูตรนักบริหารการคลัง (นบค.) ประกอบไปด้วย 8 หมวดวิชา ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 กิจกรรมหลัก (ดังรายละเอียดในตารางที่ 1) ได้แก่
กิจกรรมที่ 1 การพัฒนากระบวนการทางความคิดของผู้บริหารระดับสูง
กิจกรรมที่ 2 การนำองค์ความรู้มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์
ตารางที่ 1 โครงสร้างหลักสูตรนักบริหารการคลัง (นบค.)
หมวดวิชา |
จำนวนวิชา |
จำนวนชั่วโมง |
กิจกรรมที่ 1 การพัฒนากระบวนการทางความคิดของผู้บริหาร |
||
หมวดวิชาที่ 1 การพัฒนาระบบความคิดของผู้บริหารระดับสูง |
|
54 |
กิจกรรมที่ 2 การนำองค์ความรู้มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ |
||
หมวดวิชาที่ 2 การพัฒนามุมมองในระดับสากลและในระดับประเทศ |
23 |
69 |
หมวดวิชาที่ 3 การสร้างและพัฒนาภาวะผู้นำองค์กร |
10 |
30 |
หมวดวิชาที่ 4 การบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล |
10 |
30 |
หมวดวิชาที่ 5 การขับเคลื่อนนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ |
- |
97 |
หมวดวิชาที่ 6 การเสริมสร้างประสบการณ์นักบริหารเชิงประจักษ์ |
- |
70 |
หมวดวิชาที่ 7 การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการสร้างสุนทรียภาพของชีวิต |
8 |
24 |
หมวดวิชาที่ 8 การพัฒนาความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพคลัง |
9 |
24 |
รวม |
398 |
5. วิทยากร
ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การบริหารจัดการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการเมือง จากทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ผู้บริหารระดับสูงที่ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในระดับองค์กรและระดับประเทศ ได้แก่ รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้บริหารองค์กรระหว่างประเทศ และผู้บริหารองค์กรภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น
6. แนวทางการอบรม
ประกอบด้วยการบรรยาย การถ่ายทอดประสบการณ์ กรณีศึกษา การเสวนาแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ การศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ และการจัดทำรายงานการศึกษา โดยในแต่ละหมวดวิชาจะใช้แนวทางการอบรมที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม
7. ระยะเวลาการอบรม
8. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
อาคารทิปโก้ ชั้น 34 เลขที่118/1 ถนนพระราม 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 หรือ แฟกซ์มาที่หมายเลข 0-2357-3534
9. จำนวนผู้เข้ารับการอบรม
ผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 60 คน โดยมีสัดส่วนผู้เข้ารับการอบรมที่มาจากหน่วยงานภายนอก กระทรวงการคลังไม่น้อยกว่าร้อยละ 25
10. เกณฑ์การพิจารณาผู้สำเร็จการอบรม
10.1 ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเข้าร่วมการอบรมและกิจกรรมในหลักสูตรไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของระยะเวลาการอบรมทั้งสิ้น
10.2 ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่ 1 การพัฒนากระบวนการทางความคิดของผู้บริหารระดับสูง ณ จังหวัดกาญจนบุรี ตลอดทั้งกิจกรรม
10.3 ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องนำส่งผลงานทางวิชาการดังต่อไปนี้ให้กับคณะกรรมการบริหารหลักสูตรนักบริหารการคลัง และผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่หลักสูตรฯ กำหนด
10.3.1 รายงานการศึกษาส่วนบุคคล (Individual Study: IS)
10.3.2 รายงานการศึกษากลุ่ม (Group Study: GP)
10.3.3 บทความเชิงวิชาการเกี่ยวกับการศึกษาดูงานต่างประเทศตามหัวข้อที่หลักสูตรฯ กำหนด
10.3.4 สมุดสรุปเนื้อหาการเรียนการสอนรายสัปดาห์ตลอดระยะเวลาการอบรม
10.4 ผู้เข้ารับการอบรมที่มีระยะเวลาการอบรมและเข้าร่วมกิจกรรมตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 13.1 และ 13.2 และส่งผลงานทางวิชาการตามข้อ 13.3 และผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่หลักสูตรฯ กำหนด จะถือว่าสำเร็จการอบรมหลักสูตรนักบริหารการคลัง รุ่นที่ 3
11. ผลงานทางวิชาการ
ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องจัดทำและนำเสนอรายงานทางวิชาการจำนวน 2 ฉบับและบทความเชิงวิชาการ 1 บทความเพื่อเป็นการฝึกฝนในด้านการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ สามารถวิเคราะห์ภาพรวมและความเชื่อมโยงขององค์ประกอบของสถานการณ์ปัญหาอย่างครบถ้วนชัดเจน และเพื่อให้สามารถบูรณาการความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเรียนการสอนและการศึกษาดูงานมาประยุกต์ใช้เพื่อนำเสนอแนวคิด ทฤษฎี นโยบาย และมาตรการในการแก้ไขปัญหาทั้งในเชิงการบริหารจัดการและเชิงการวางแผนงานเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติจริง
รายงานทางวิชาการทั้ง 2 ฉบับประกอบด้วย
11.1 รายงานการศึกษาส่วนบุคคล (Individual Study: IS)
เป็นการศึกษาวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพองค์กร แนวคิดการบริหารจัดการ และบูรณาการของนโยบายระดับองค์กร หรือการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ โดยอาศัยประสบการณ์ในการทำงาน ความรู้ที่ได้รับจากการอบรม และการแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างการอบรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้
11.2 รายงานการศึกษาแบบกลุ่ม (Group Study: GP)
เป็นการศึกษาวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดและการบริหารจัดการนโยบายในภาพกว้างหรือในระดับประเทศ เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบาท หน้าที่ และการดำเนินนโยบายของกระทรวงการคลัง ในฐานะเครื่องมือของรัฐในการส่งเสริมความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
โดยในการจัดทำรายงานทั้ง 2 ฉบับ สถาบันวิทยาการเศรษฐกิจและการคลังจะจัดอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน และการคลัง เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและกำกับดูแลการจัดทำรายงานการศึกษาของผู้ เข้ารับการอบรม นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังจัดให้มีผู้ช่วยอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จากกระทรวงการคลังและสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและการคลัง ทำหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนการปฏิบัติงานของอาจารย์ที่ปรึกษาอีกด้วย
สำหรับบทความเชิงวิชาการนั้น คณะกรรมการบริหารหลักสูตรนักบริหารการคลัง กำหนดให้ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเขียนบทความเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาดูงานในต่างประเทศภายใต้หัวข้อที่คณะกรรมการบริหารหลักสูตรนักบริหารการคลังกำหนด โดยจะเน้นการนำบทเรียนและประสบการณ์จากการศึกษาดูงานมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกรณีของประเทศไทย ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลดีกับประเทศไทยได้อย่างไร
12. การศึกษาดูงาน
สถาบันวิทยาการเศรษฐกิจและการคลัง จะจัดกิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์นักบริหารเชิงประจักษ์ผ่านการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้มีโอกาสเรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์จากสถานการณ์จริง นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถสร้างความคุ้นเคยระหว่างกันอีกด้วย โดยแบ่งการศึกษาดูงาน ดังนี้
12.1 การศึกษาดูงานในประเทศ 3 ครั้ง ประกอบด้วย
12.1.1 การศึกษาดูงาน ณ จังหวัดเพชรบุรี
12.1.2 การศึกษาดูงาน ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดกระบี่
12.1.3 การศึกษาดูงาน ณ จังหวัดมุกดาหาร
12.2 การศึกษาดูงานต่างประเทศ 1 ครั้ง โดยเป็นการศึกษาดูงานที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนและการบริหารจัดการลงทุน ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ณ ประเทศญี่ปุ่น
13. ผลลัพธ์ที่คาดหวังของหลักสูตร
13.1 สำหรับผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบริหารการคลัง จะเป็นนักบริหารระดับสูงที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความเข้าใจในเครื่องมือและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการคลังของประเทศ มีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้หลักการและเทคนิคการบริหารจัดการสมัยใหม่ มีศักยภาพในการบริหารจัดการ มีความเป็นผู้นำ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสร้างนวัตกรรมเพื่อนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่องค์กร มีความสามารถสามารถในการบูรณาการเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานในด้านเศรษฐกิจการคลัง มีคุณธรรมและจริยธรรม และยึดมั่นประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก
13.2 สำหรับหน่วยงาน จะได้บุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในวิชาชีพด้านการคลัง เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามที่คาดหวัง และเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ หน่วยงานต้นสังกัดของผู้เข้ารับการอบรม จะได้ทราบถึงศักยภาพของผู้เข้ารับการอบรมจากตัวชี้วัดความสามารถเชิงสมรรถนะ (Competency) ของผู้เข้ารับการอบรมอีกด้วย
13.3 สำหรับประเทศชาติและประชาชน ประชาชนจะได้รับการบริการที่มีคุณภาพ การบริหารราชการมีประสิทธิภาพและรวดเร็วบนพื้นฐานของหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
14. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
สถาบันวิทยาการเศรษฐกิจและการคลัง ภายใต้มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
15. คณะกรรมการบริหารหลักสูตรนักบริหารการคลัง
คณะกรรมการบริหารหลักสูตรตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 413/2553 มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
- ดำเนินโครงการอบรมหลักสูตรนักบริหารการคลัง (นบค.) และพัฒนาหลักสูตรให้เป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตรนักบริหารระดับสูง (นบส.) ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
- พิจารณาคัดเลือก/รับรองผู้มีสิทธิเข้ารับการอบรมในหลักสูตรนักบริหารการคลัง (นบค.)
- ประเมินผลโครงการอบรมหลักสูตรนักบริหารการคลัง (นบค.)
- ดำเนินการอื่นๆ ตามที่กระทรวงการคลังมอบหมาย
16. บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
สถาบันวิทยาการเศรษฐกิจและการคลัง จะจัดบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับผู้เข้ารับการอบรม กระทรวงการคลัง และหน่วยงานต้นสังกัด ดังต่อไปนี้
ผู้เข้ารับการอบรม
- จัดเตรียมสถานที่อบรม พร้อมทั้งอุปกรณ์และเอกสารประกอบการเรียนการสอนที่จำเป็นทั้งหมด
- จัดเตรียมอาหารกลางวันและอาหารว่าง 2 มื้อ ตลอดระยะเวลาที่มีการอบรม
- จัดเตรียมบริการการเดินทาง ที่พัก และอาหารสำหรับการศึกษาดูงานในประเทศและต่างประเทศ
- จัดกิจกรรมนอกหลักสูตรและกิจกรรมสันทนาการที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรนักบริหารการคลัง (นบค.)
- จัดหาอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้ช่วยอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้ารับการอบรมในการจัดทำรายงานการศึกษาส่วนบุคคล (IS) และรายงานการศึกษากลุ่ม (GP)
- จัดทำแผ่น CD บรรจุข้อมูลเอกสารประกอบการบรรยายให้ผู้เข้ารับการอบรมภายในเวลา 2 เดือนหลังเสร็จสิ้นการอบรม
- จัดทำของที่ระลึกต่างๆ สำหรับผู้เข้ารับการอบรม
- จัดทำภาพถ่ายพิธีมอบประกาศนียบัตรขนาด 7.5 นิ้ว x 11 นิ้ว ของผู้เข้ารับการอบรมแต่ละท่าน ท่านละ 1 ภาพ พร้อมแผ่น DVD บรรจุภาพถ่ายกิจกรรมต่างๆ ตลอดระยะเวลาการอบรม
กระทรวงการคลัง
- จัดทำรายงานผลการประเมินผู้เข้ารับการอบรมสำหรับหน่วยงานต้นสังกัดของผู้เข้ารับการอบรมและสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
- จัดทำรายงานสรุปผลโครงการอบรมหลักสูตรนักบริหารการคลัง(นบค.) รุ่นที่ 3 ภายในเวลา 2 เดือนหลังเสร็จสิ้นการอบรม
- จัดทำแผ่น DVD บันทึกการบรรยายในทุกรายวิชาตลอดระยะเวลาการอบรม
- จัดทำสำเนารายงานการศึกษาส่วนบุคคล (IS) (เฉพาะผู้เข้ารับการอบรมจากกระทรวงการคลัง) ตามจำนวนผู้เข้ารับการอบรม และรายงานการศึกษาแบบกลุ่ม (GP) เพื่อจัดเก็บไว้ในห้องสมุดของกระทรวงการคลัง ตามจำนวนกลุ่มในการอบรม
หน่วยงานต้นสังกัดของผู้เข้ารับการอบรม (นอกเหนือจากกระทรวงการคลัง)
- จัดทำรายงานผลการประเมินผู้เข้ารับการอบรมสำหรับหน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานละ 1 เล่ม
- จัดทำสำเนารายงานการศึกษาส่วนบุคคล (IS) (เฉพาะของผู้เข้ารับการอบรมจากหน่วยงานนั้นๆ) ส่งมอบให้กับหน่วยงานต้นสังกัด